วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การประหยัดพลังงาน สำนักงานเลขานุการกรมอนามัย

มาตรการ/แนวทางการประหยัดพลังงาน

ของสำนักงานเลขานุการกรมอนามัย

1. เครื่องปรับอากาศ

1.1 ตั้งอุณหภูมิปรับอากาศให้เหมาะสม ที่ 25-26 องศาเซลเซียส ในบริเวณพื้นที่ทำงานทั่วไปและพื้นที่ส่วนกลาง

1.2 ลดชั่วโมงการทำงาน เช่นเปิดเครื่องปรับอากาศช้าลง และปิดเครื่องปรับอากาศเร็วขึ้น โดยหากเปิดเครื่องปรับอากาศในเวลา 9.00 น. แทนเวลา 8.30 น. และปิดเครื่องปรับอากาศเวลา 16.00 น. แทนเวลา 16.30 น. ก็จะสามารถลดการใช้งานเครื่องปรับอากาศได้วันละ 1 ชั่วโมง

1.3 ในกรณีปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงเวลาพักเที่ยง เพื่อป้องกันการทำงานของเครื่องปรับอากาศทำงานพร้อมกันจำนวนมาก ๆ เมื่อกลับเข้าทำงานในเวลา 13.00 น. ให้ใช้วิธีการลดการทำงานของคอมเพรสเซอร์โดยการปรับเทอร์โมสตัทให้อยู่ที่อุณหภูมิสูงสุดเพื่อให้คอมเพรสเซอร์หยุดการทำงาน ตัวอย่าง เช่นปรกติตั้งอุณหภูมิปรับอากาศไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส เมื่อพักเที่ยงให้ปรับไปที่อุณหภูมิสูงสุดคือประมาณ 30 องศาเซลเซียส คอมเพรสเซอร์ก็จะหยุดทำงาน โดยอัตโนมัติ และเมื่อกลับเข้าทำงานก็ให้ปรับไปที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสตามปกติ หรือในกรณีเป็นเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ ให้ปรับเทอร์โมสตัท ให้ทำงานที่ Fan Mode เพื่อหยุดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ และเมื่อกลับเข้าทำงานก็ปรับให้ทำงานที่ Cool Mode ตามปกติ

ทั้งนี้การปรับเทอร์โมสตัท ตามคำแนะนำดังกล่าว เครื่องปรับอากาศจะยังคงทำงานในส่วนของพัดลมจ่ายลมเย็น ซึ่งใช้พลังงานไม่มากนัก และจะทำให้ห้องทำงานไม่ร้อนจนเกินไป เมื่อกลับเข้าทำงานและลดภาระในการทำงานหนักของเครื่องปรับอากาศ เมื่อเปิดเครื่องปรับอากาศใหม่ หลังเวลา 13.00 น.

1.4 เปิดเครื่องระบายอากาศเท่าที่จำเป็น

1.5 บำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ โดย

· ทำความสะอาดแผงกรองอากาศ ที่อยู่ภายในชุดเครื่องปรับอากาศภายในอาคาร อย่างสม่ำเสมอ ทุก ๆ เดือน ทั้งนี้ การล้างทำความสะอาดแผงกรองอากาศดังกล่าวนอกจากจะทำให้ประหยัดพลังงานแล้ว ยังเป็นการดีต่อสุขภาพอนามัยของผู้ที่อยู่ในสำนักงานอีกด้วย

· ทำความสะอาดชุดระบายความร้อน ที่ติดตั้งภายนอกอาคาร ทุก ๆ 6 เดือน

1.6 ลดภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศ โดยการ

· ป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร โดยการติดกันสาด หรือปลูกต้นไม้เพื่อให้เกิดร่มเงา บริเวณโดยรอบอาคาร

· ย้ายสัมภาระสิ่งของที่ไม่จะเป็นออกจากห้องปรับอากาศ ทั้งนี้ เนื่องจากเครื่องปรับอากาศจะต้องสูญเสียพลังงานในการดูดซับ ความร้อนออกจากสัมภาระสิ่งของดังกล่าว โดยเปล่าประโยชน์

· เปิด - ปิดประตู เข้า ออก ของห้องที่มีการปรับอากาศเท่าที่จำเป็น และระมัดระวังไม่ให้ประตูห้องปรับอากาศเปิดค้างไว้ สำหรับส่วนราชการที่ต้องมีการให้บริการประชาชน และมีการเข้า ออก ของผู้ขอรับบริการอย่างสม่ำเสมอ ควรมีการติดประตูบานสวิง ที่สามารถปิดได้เอง และหมั่นดูแลบำรุงรักษาให้บานสวิงทำงานได้ดีอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการเพิ่มภาระให้กับเครื่องปรับอากาศ โดยไม่จำเป็น

· หลีกเลี่ยงการติดตั้งและใช้ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน ในห้องปรับอากาศ เช่น ตู้เย็น ตู้แช่น้ำเย็น กาต้มน้ำ เตาไมโครเวฟ เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น

2. ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง

2.1 ปิดไฟฟ้าแสงสว่าง ในเวลาพักเที่ยง

2.2 ถอดหลอดไฟฟ้า ในบริเวณที่มีความสว่างมากเกินความจำเป็น เช่นโถงทางเดิน หรือพิจารณาใช้แสงธรรมชาติจากภายนอก เพื่อลดการใช้หลอดไฟ โดยการเปิดม่าน มู่ลี่บริเวณหน้าต่าง

2.3 เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นใช้หลอดตะเกียบแทนหลอดไส้ ใช้บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ หรือบัลลาสต์ขดลวดชนิดการสูญเสียต่ำ แทน บัลลาสต์ขดลวดชนิดแกนเหล็กธรรมดา และใช้โคมไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง

2.4 แยกสวิตซ์ควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง ที่สามารถเปิด-ปิดได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นในการใช้งาน แทนการใช้หนึ่ง สวิตซ์ควบคุมหลอดแสงสว่างจำนวนมาก

2.5 บำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยทำความสะอาดฝาครอบโคมไฟฟ้า หลอดไฟ แผ่นสะท้อนแสง เพื่อให้อุปกรณ์แสงสว่างมีความสะอาดและให้แสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ควรทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอทุก 3-6 เดือน

3. อุปกรณ์สำนักงาน

3.1 เครื่องคอมพิวเตอร์

· ปิดจอภาพในเวลาพักเที่ยง หรือเมื่อไม่มีการใช้งานเกิน 15 นาที

· ตั้งโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์ปิดหน้าจออัตโนมัติ เมื่อไม่มีการใช้งานเกิน 15 นาที (Standby mode)

· ปิดคอมพิวเตอร์ หลังเลิกการใช้งานและถอดปลั๊กออกด้วย

3.2 เครื่องถ่ายเอกสาร

· กดปุ่มพัก (Standby mode) เครื่องถ่ายเอกสาร เมื่อใช้งานเสร็จ และหากเครื่องถ่ายเอกสารมีระบบปิดเครื่องอัตโนมัติ (Auto power off ) ควรตั้งเวลาหน่วง 30 นาที ก่อนเข้าสูระบบประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ เครื่องถ่ายเอกสารจะต้องใช้เวลาในการอุ่นเครื่อง 1-2 นาที ก่อนจะเข้าสู่สภาวะทำงานปกติอีกครั้ง ซึ่งหากมีการตั้งเวลาหน่วงสั้นไป เมื่อจะมีการใช้เครื่องอีก จะต้องเสียเวลาอุ่นเครื่องบ่อย

· ควบคุมการถ่ายเอกสารเฉพาะเท่าที่จำเป็น

· ไม่ควรวางเครื่องถ่ายเอกสารไว้ในห้องทำงานปรับอากาศ

· ปิดเครื่องถ่ายเอกสาร หลังเลิกการใช้งานและถอดปลั๊กออกด้วย

3.3 การใช้ลิฟต์

การใช้ลิฟต์ในอาคาร ต้องใช้มอเตอร์ที่มีกำลังฉุดสูง มีกำลังแรงม้ามาก นั่นคือใช้กำลังไฟฟ้ามากทั้งขาขึ้นและลง เมื่อมีการใช้ลิฟต์ บ่อยครั้งการใช้ไฟฟ้าก็จะมากขึ้นด้วย ดังนั้นหน่วยงานที่มีอาคารสูงจึงมีค่าใช้จ่ายจากการใช้ลิฟต์เพิ่มมากขึ้นด้วย แนวทางปฏิบัติเพื่อการลดใช้พลังงานในการใช้ลิฟต์ มีดังนี้

· กำหนดให้ลิฟต์หยุดเฉพาะชั้น เช่นการหยุดชั้นคู่หรืออาจให้สลับให้มีการหยุดเฉพาะชั้นคี่ เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานในการเดินทางและหยุดบ่อยครั้งของลิฟต์ และยังช่วยลดการสึกหรอ การซ่อมบำรุงรักษาและอายุการใช้งานได้ด้วย

· ปิดลิฟต์บางตัวในช่วงที่มีการใช้งานน้อย

· ตั้งเวลาให้ประตูลิฟต์ ปิดเองในช่วงเวลาอย่างน้อย 10 วินาที จะช่วยลดความจำเป็นในการใช้พลังงานไฟฟ้าของการขับเคลื่อนมอเตอร์ เปิด-ปิด ประตู และช่วยยืดอายุการใช้งานของมอเตอร์ เปิด-ปิด ประตูลิฟต์ได้ด้วย

· ส่งเสริม รณรงค์กิจกรรม ให้มีการเดินขึ้น-ลง แทนการใช้ลิฟต์

· แสดงผัง รายละเอียดชั้นที่ตั้งของหน่วยงานในอาคาร พร้อมเลขชั้นที่ชัดเจน สามารถมองเห็นได้ง่าย เช่นหน้าประตูก่อนเข้าลิฟต์ และภายในลิฟต์ จะช่วยลดการเดินทางหลงชั้นและลดการใช้ลิฟต์ที่ไม่จำเป็น

4. การใช้น้ำ

การผลิตและการใช้น้ำประปาจะมีการใช้พลังงานอยู่ทุกขั้นตอน ดังนั้นการใช้น้ำอย่างประหยัด จะเป็นการลดการใช้พลังงานด้วยอีกทางหนึ่ง

4.1 สำรวจตรวจสอบและทำการเปลี่ยนหรือซ่อมแซม ปั้มน้ำ ระบบการจ่ายน้ำ เช่นท่อประปา วาวล์ ก๊อกน้ำ ระบบสุขภัณฑ์ เช่นหัวฉีดชำระ ขอบยางและลูกลอยชักโครก ที่ชำรุดหรือเสื่อมสภาพและปล่อยให้มีการรั่วไหลของน้ำ เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง

4.2 ติดตามปริมาณการใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจหาการรั่วไหล

4.3 เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ หรือชนิดมีประสิทธิภาพสูง เช่นก๊อกน้ำประหยัดน้ำ ชักโครกประหยัดน้ำ หัวฉีดชำระประหยัดน้ำ แทนอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพต่ำ เมื่อเสื่อมสภาพหมดอายุการใช้งาน

4.4 หมั่นตรวจสอบ ซ่อมแซมรอยรั่วต่างของอุปกรณ์ทั้งหมด อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกอาคาร หากพบจุดที่มีการรั่วไหลให้ลงมือซ่อมแซมหรือแจ้งซ่อมทันที เพื่อลดการสูญเสียของน้ำ

5. การประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง

5.1 ควรปรับวิธีการขับขี่รถยนต์ให้ถูกต้อง และขับรถที่ความเร็วที่พอเหมาะ ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป ควรขับด้วยความเร็วที่ไม่เกินกฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้นอกจากประหยัดพลังงานแล้ว ยังปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ความเร็วที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ

· ทางธรรมดา ความเร็วไม่เกิน 90 กม.ต่อชั่วโมง

· ทางด่วน ความเร็วไม่เกิน 110 กม.ต่อชั่วโมง

· มอเตอร์เวย์ ความเร็วไม่เกิน 120 กม.ต่อชั่วโมง

การขับขี่ที่ความเร็ว 110 กม.ต่อชั่วโมง จะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงขึ้นอีกประมาณ ร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับความเร็ว 80 กม.ต่อชั่วโมง และจะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงขึ้นอีกประมาณ ร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับความเร็ว 90 กม.ต่อชั่วโมง

การติดเครื่องจอดเฉย ๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะทุก ๆ 5 นาทีที่ติดเครื่องยนต์รอ จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันถึง 500 ซีซี.

การบรรทุกหรือเก็บสัมภาระสิ่งของที่ไม่จำเป็นมาก ๆ ไว้ในรถ ก็จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันโดยไม่จำเป็น เช่นหากเก็บของที่ไม่จำเป็นน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ไว้ท้ายรถ ทุก ๆ 25 กิโลเมตรที่ขับขี่ จะสิ้นเปลืองน้ำมันโดยไม่ได้ประโยชน์ถึง 40 ซีซี.

5.2 หมั่นบำรุงรักษาให้ระบบต่างของรถยนต์ และเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

การหมั่นดูแลบำรุงรักษาระบบต่างของรถยนต์ และเครื่องยนต์ให้มี ประสิทธิภาพอยู่เสมอ นอกจากจะทำให้ประหยัดน้ำมันแล้ว ยังทำให้เกิดความปลอดภัยในยามขับขี่และทำให้ลดค่าซ่อมแซม รถยนต์เนื่องจากความความสึกหรอก่อนเวลาอันควร ดังนั้น จึงควรหมั่นตรวจสอบระบบต่างของรถยนต์และเครื่องยนต์ ดังนี้

· ตรวจเช็คเครื่องยนต์ตามระยะเวลาหรือระยะทางที่กำหนด ทั้งนี้การปรับปรุงสมรรถนะของเครื่องยนต์ ให้มีการเผาไหม้อย่างสมบรูณ์ จะช่วยให้ประหยัดน้ำมันได้ประมาณ ร้อยละ 3 - 9

· เปลี่ยนไส้กรองตามระยะเวลาที่กำหนด และควรหมั่นใช้ลมเป่าทำความสะอาดไส้กรองเพื่อขจัดฝุ่นที่อุดตัน หากไส้กรองสะอาด จะช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันได้ประมาณ วันละ 65 ซีซี. และควรทำความสะอาดไส้กรองทุก 2,500 กิโลเมตร และควรเปลี่ยนทุก 20,000 กิโลเมตร

· หมั่นตรวจสอบความดันลมยาง ไม่ควรให้ลมยางอ่อนเกินไปจาก มาตรฐานที่กำหนดของรถยนต์ หากปล่อยให้

ลมยางอ่อนกว่ามาตรฐาน 1 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หากวิ่งวันละ 100 กิโลเมตร ในหนึ่งเดือนจะสิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้น ประมาณ 5 ลิตร

· ตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่อง และน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับที่กำหนด รวมถึงระดับน้ำในหม้อน้ำ สำหรับน้ำมันเครื่อง ควรเปลี่ยนถ่ายตามระยะเวลาที่กำหนด

5.3 การเดินทางไปราชการ หรือการใช้รถราชการในการปฏิบัติงานต่างๆ ใช้ระบบทางเดียวกันไปด้วยกัน

ไม่มีความคิดเห็น: